วันศุกร์, สิงหาคม 31, 2550

" คอยโกโดต์ : คอยใคร?-ใครคือโกโดต์? "( จบ )













Beckettไม่เคยคาดหวังที่จะให้ "คอยโกโดต์" สร้างชื่อเสียงหรือเป็นงานการละครชิ้นเอก

ความจริงแล้ว "คอยโกโดต์" เป็นบทละครแอบเสิร์ดชิ้นแรก ที่เขียนขึ้นในขณะที่เขายังไม่มีประสบการณ์การผลิตละครอย่างจริงจัง

สำหรับนักวิจารณ์ ส่วนหนึ่งกลับถือว่า "คอยโกโดต์" เป็นผลงานชิ้นเอกของBeckettที่ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม ได้รับการยกย่องอย่างรวดเร็วในห้วงเวลานั้นว่าเป็นแบบฉบับของ Absurd Theatre

ทว่าเป็นเรื่องกลับตาลปัดอย่างยิ่ง สวนทางกับคำชมเชยเหล่านั้น Beckettยืนยันอย่างหนักแน่นจริงจังและจริงใจว่า

"คอยโกโดต์" เป็นบทละครที่ "แย่" (bad play)

เขาขยายความว่า เขาเพียงแต่เขียน"คอยโกโดต์"ขึ้นด้วยหวังจะให้เป็นบทละครเพื่อความบันเทิง เล่นได้ในทันที ง่ายต่อการชม และประหยัดค่าใช้จ่ายในการสร้างเป็นละครเวที

สำหรับBlin หลังจากอ่านบทละครจบลง เขาตัดสินใจรับกำกับละครสององก์จบบทนี้ทันที อย่างไรก็ดี เขายอมรับอย่างเปิดเผยว่า เขาไม่เข้าใจเนื้อเรื่อง แต่เขาชอบ

เพราะ "คอยโกโดต์" ประกอบด้วยตัวละครจรจัดตัวหลักสี่ตัว เครื่องแต่งตัวจึงไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ ขอเพียงสปอตไลท์สักตัว และต้นไม้ใบโกร๋นสักต้นก็เพียงพอ จึงเป็นเหตุผลที่สอดรับกับความตั้งใจเดิมของBeckett

Beckettจะรู้สึกรำคาญใจกับผู้คนที่ต้องการพูดถึง "คอยโกโดต์" ในแง่มุมต่างๆ

ด้วยเหตุผลที่ว่า "คอยโกโดต์" มักจะบดบังรัศมีต่อผลงานชิ้นอื่นๆของเขา ซึ่งBeckettคิดว่ามีความสำคัญต่อตัวเขามากกว่า สิ่งนั้นคือ นวนิยายของเขานั่นเอง

Beckettเปิดเผยว่า นอกจากห้องพักในกรุงปารีส เขายังซื้อบ้านในชนบทแห่งหนึ่งเพื่อทำงานเขียน เขายอมรับตรงไปตรงมาว่า บ้านหลังนี้ได้มาด้วยรายได้ส่วนหนึ่งจากการทำละคร

เขามักพูดเสมอว่า บ้านชนบทหลังนั้น Godot เป็นคนสร้าง


********************

บันทึกไว้บนกระดาษเมื่อ ปี 2537

" คอยโกโดต์ : คอยใคร?-ใครคือโกโดต์? "( ตอนที่ 4 )










ยังมีเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่งซึ่งค่อนข้างเลื่อนลอยอยู่สักหน่อย ทว่า พวกเพื่อนๆของBeckettกลับชื่นชอบมากเป็นพิเศษ

ครั้งหนึ่งขณที่Beckettกำลังยืนรอรถประจำทางตรงถนน Godot de Mauroy บริเวณนี้เลื่องชื่อในฐานะเป็นแหล่งยืนเรียกลูกค้าของบรรดาโสเภณีปารีส

สาวเธอคนหนึ่งเกิดขุ่นเคืองอย่างมากที่Beckettปฏิเสธคำเสนอตัวของเธอ จึงสัพยอกทำนองว่า จะสงวนเนื้อตัวเอาไว้ให้ใครเป็นพิเศษหรืออย่างไร

หรือว่าเขากำลัง "คอยโกโดต์" (เชอะ!!!)

********************

ถึงแม้จะมีเรื่องเล่าพิสดารเกี่ยวเนื่องกับ "Godot" จากปากคำของBeckett แสดงถึงความคล้องจองหรือความคล้ายคลึงกันเพียงบางส่วน แต่เขาไม่เคยออกความเห็นหรือยืนยันหนักแน่นชัดเจนแจ่มแจ้งว่า "Godot" คือใครหรืออะไรกันแน่

นอกจากนั้น เขาไม่เคยแสดงความเห็นใดๆให้มากเกินไปกว่าที่ "ตัวบท" แสดงโดยตัวของมันเอง เพราะเขาไม่ต้องการให้เกิดการชี้นำเกินสมควรต่อผลงาน

เป็นที่รู้กันอย่างกว้างว่า หนึ่งในบรรดาหัวข้อที่ผู้สงสัยและชอบตีความ "คอยโกโดต์" ก็คือ Godot หมายถึง God โดยเฉพาะ "Waiting for Godot" ในภาคภาษาอังกฤษ

แรกสุด อาจเป็นเพราะเห็นความคล้ายคลึงกันของคำ แท้จริงแล้ว คำที่เรียก "God" ในภาษาฝรั่งเศสกลับเขียนด้วย " Dieu " เมื่อถูกบังคับให้ต้องตอบข้อสงสัยในกรณีนี้ Beckett กล่าวว่า

".....ท่านต้องอย่าลืมว่า ข้าพเจ้าเขียนบทละครเรื่องนี้ด้วยภาษาฝรั่งเศส แม้ข้าพเจ้าจะมีนัยยะนั้นอยู่ในความคิดจริง มันอาจอยู่ที่ไหนสักแห่งโดยไม่รู้ตัว แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ได้รู้สึกอย่างชัดเแจ้ง"

หรือ

" If Godot were God, I would call him that. "

อย่างไรก็ตาม Godot จะเป็น God ดังที่เอสทรากอนและวลาดิมีร์รอคอยอยู่หรือไม่ใช่ก็ตาม ใน "คอยโกโดต์" Beckett เขียนให้ตัวละครทั้งสองกล่าวพาดพิงอยู่เนืองๆถึงพระผู้เป็นเจ้า พระเยซู และเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิล (หน้า 26-27, 68, 110 ฯลฯ)

********************

วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 30, 2550

" คอยโกโดต์ : คอยใคร?-ใครคือโกโดต์? "( ตอนที่ 3 )










Roger Blin เคยถาม Beckett ว่า Godot หมายถึงใคร หรือ อะไรกันแน่

Beckett บอกเพียงว่า เขาได้ความคิดมาจากแสลงภาษาฝรั่งเศสสองคำคือ godillot และ godasse อันมีความหมายเกี่ยวข้องกับ "รองเท้าบู้ต"

รองเท้าบู้ตเหม็นๆของเอสทรากอนถูกนำมา "เล่น" อยู่ตลอดเวลานับแต่เริ่มเปิดฉากองก์ที่ 1

"...เอสทรากอนนั่งอยู่บนเนินดิน กำลังพยายามใช้มือทั้งสองดึงรองเท้าบู้ตออก เหนื่อย หอบฮักๆ เลิกดึง หมดแรง หยุดพัก แล้วพยายามดึงอีก เหนื่อย หมดแรง..." (หน้า 26)

ผู้ใกล้ชิดบางคนตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงหนึ่งที่หนุ่ม Beckett ใช้ชีวิตและช่วยเหลืองานร่วมกับ Jame Joyce เขาพยายามฝืนใส่รองเท้าเบอร์เดียวกันกับที่Joyceสวมอยู่ ซึ่งJoyceภูมิใจอย่างมากกับการมีเท้าคู่เล็ก ผลปรากฏว่าBeckettต้องทนกับความทรมานในการเดินเหิน เวลาถอดรองเท้าออกจึงเจ็บปวดไม่ผิดไปจากพฤติกรรมของเอสทรากอน

(ข้อสังเกต : ฝรั่งตะวันตกมักมีเท้ายาวเรียว หรือป้อมใหญ่ ???)

Beckett มักจะย้ำคำอธิบายในความเกี่ยวข้องกันระหว่าง Godot กับรองเท้าบู้ตมากที่สุดและบ่อยครั้งมากที่สุด

อีกหนึ่งคำอธิบายที่Beckettกล่าวถึงบ่อยๆเช่นกันคือ เมื่อครั้ง Beckett ยืนอยู่ท่ามกลางฝูงชนตรงหัวมุมถนนแห่งหนึ่งในบ่ายวันแข่งขันจักรยานรายการสำคัญ "Tour de France"

Beckett ถามผู้คนว่า พวกเขากำลังยืนมุงดูอะไร

คำตอบก็คือ " Nous attendons Godot " (We are waiting for Godot.)

แล้ว ใครคือ Godot ที่พวกเขากำลังรอคอย Beckettได้รับคำบอกเล่าต่อไปว่า หลังจากขบวนผู้แข่งขันจักรยานขี่ผ่านพ้นไปจนหมดแล้ว ผู้คนกำลังตั้งตารอคอยกับการมาถึงของนักปั่นคนเดียวคนรั้งท้ายสุด และ อายุมากที่สุด

เขามีนามว่า Godot นั่นเอง

*************************

" คอยโกโดต์ : คอยใคร?-ใครคือโกโดต์? "( ตอนที่ 2 )










En attendant Godot, premier, 1953


"คอยโกโดต์" เปิดฉาก (และใช้ฉากนี้เพียงฉากเดียว) ณ สถานที่แห่งหนึ่ง มีต้นไม้ใบโกร๋นต้นหนึ่ง (ต่อมาผลิใบสี่ห้าใบในองก์ที่สอง) ตัวละครทั้งห้า มีเพียง "เด็กชาย" คนเดียวที่ไม่ระบุชื่อเสียงเรียงนาม ส่วนอีกสี่คนมีชื่อตามเชื้อชาติที่แตกต่างกัน

เอสทรากอน - สแปนนิช
วลาดิมีร์ - รัสเชี่ยน
ปอซโซ - อิตาเลี่ยน
ลักกี้ - แองโกล-แซกซอน
ส่วน "โกโดต์" บุคคลทีถูกกล่าวถึงแต่ไม่ได้มาปรากฏตัวเลยนั้น น่าจะเป็นฝรั่งเศส

เอสทรากอน และ วลาดิมีร์ มารอคอยคนชื่อ "โกโดต์" (ตามนัดหมาย?) ระหว่างรอคอย (while waiting) คนทั้งสองสนทนากันด้วยเรื่องที่คนทั่วๆไป อ่าน (หรือ ดู และ ฟัง) แล้วเข้าใจได้ไม่ยากว่าเป็นสิ่งไร้สาระ ไม่มีความหมาย ไม่เป็น "เรื่อง" ไม่อาจคาดเดาได้ว่า อะไรกำลังเกิดขึ้น และ อะไรจะเกิดตามมา

ในเวลาต่อมา ทั้งสองได้พบกับ ปอซโซ และ ลักกี้ และในที่สุดก็มี "เด็กชาย" ผู้นำข่าวจาก "โกโดต์" มาบอกเอสทรากอนและวลาดิมีร์

พฤติกรรมแปลกประหลาด และ บทสนทนาอันไร้สาระของตัวละครดำเนินต่อเนื่องไปนับแต่เริ่มเรื่องจนจบ ในขณะที่ชื่อของ "โกโดต์" ถูกตัวละครกล่าวถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่าแทรกเป็นระยะๆ

เอสทรากอน : ........ไปกันเถอะ
วลาดิิมีร์ : ไปไม่ได้
เอสทรากอน : ทำไม?
วลาดิิมีร์ : เรากำลังคอยโกโดต์

(คอยโกโดต์, สนพ.มติชน หน้า 29)

นี่คือบทสนทนาเปิดตัว "โกโดต์" ในตอนต้นเรื่อง เรายังพบบทสนทนา 4 บรรทัดเหมือนกันเช่นนี้ปรากฏซ้ำอีกในหน้า 73, 99, 103, 112, 120 (คอยโกโดต์, สนพ.มติชน) นับรวมแล้วมีการกล่าวถึง "โกโดต์" ประมาณ 30 ครั้ง จนกระทั่งจบฉากสุดท้าย

แต่ "โกโดต์" ก็ไม่ได้ออกมาปรากฏตัวให้เห็น


********************

" คอยโกโดต์ : คอยใคร?-ใครคือโกโดต์? "( ตอนที่ 1 )












ต้นฉบับดั้งเดิมของบทละครเรื่อง "คอยโกโดต์" (Waiting for Godot) Samuel Beckett เขียนด้วยภาษาฝรั่งเศส ในชื่ิอว่า " EN ATTENDANT GODOT " (แปลตามตัวอักษรเป็นภาษาอังกฤษว่า While waiting for Godot)

En attendant Godot - Paris: Editions de Minuit, 1952. First trade edition.

เขาเริ่มลงมือเขียนเมื่อประมาณปลายปี 1948 ไม่กี่ปีหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง "EN ATTENDANT GODOT" ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1952 ประมาณปลายปี 1953 Roger Blin ผู้กำกับละครได้นำเสนอเป็นละครเวทีรอบปฐมทัศน์ต่อสาธารณชนในกรุงปารีส มีการตัดเติมแก้ไขใหม่จากความร่วมมือของBlinให้เหมาะสมกับความเป็นละครเวที ด้วยเหตุที่Beckettไม่มีประสบการณ์จริงด้านการละครเวทีมาก่อน


Waiting for Godot: a Tragicomedy in Two acts.
London: Faber and Faber, [1956].First English edition.

ารดัดแปลงต้นฉบับเดิมส่งผลต่อการถ่ายทอดเป็นฉบับภาษาอังกฤษในเวลาต่อมา Beckettรับเป็นผู้แปลด้วยตัวเอง "Waiting for Godot" ฉบับภาษาอังกฤษได้รับการตีพิมพ์ในปี 1956

********************

ชาติกำเนิดของ Beckett เป็นชาวไอริช เกิดเมื่อปี 1906 ที่เมืองดับลิน ไอร์แลนด์ ในครอบครัวชนชั้นกลางนับถือโปรเตสแตนต์ สำเร็จการศึกษาอักษรศาสตร์บัณฑิต วิชาวรรณกรรมฝรั่งเศสสมัยใหม่จากทรินิตี้คอลเลจ เมืองดับลิน

ช่วงหนึ่งของชีวิต Beckett สอนภาษาฝรั่งเศสในสถาบันที่จบมา อีกช่วงหนึ่งเดินทางไปสอนภาษาอังกฤษในกรุงปารีส Beckett ตัดสินใจ
ใช้ชีวิตถาวรในฝรั่งเศสจวบจนวันสุดท้ายของชีวิต (22 ธันวาคม 1989)

ระหว่างพำนักอยู่ในฝรั่งเศสนี้เองที่ Beckett เขียน "คอยโกโดต์" บทละครที่ผู้เขียนเองไม่เคยคาดคิดว่าจะได้รับการต้อนรับ กล่าวขวัญ และวิพากษ์วิจารณ์ถึงอย่างกว้างขวาง



*******************

วันจันทร์, สิงหาคม 27, 2550

" I stink, therefore I AM "









Samuel Beckett


"I stink, therefore I AM"


ไม่แน่ใจว่า ใครเป็นเจ้าของวลีนี้ คลับคล้ายว่า อ่านพบในหนังสือเล่มหนึ่ง มันผูกเชื่อมโยงกับนักเขียนนามกระเดื่อง Samuel Beckett เจ้าของผลงานบทละครแนวแอบเสิร์ดเรื่อง "Waiting for Godot" จำไม่ได้อีกเช่นกันว่ามันผูกโยงกันอย่างไร แต่วลีนี้พวยพุ่งขึ้นในใจทันที สมองเก็บจำได้ ไม่รู้ลืม จนถึงบัดนี้


มันให้หวนระลึกถึงวลีเอกแห่งศตวรรษที่ล่วงมา "I think, therefore I am " หรือ "I doubt, therefore I think, therefore I am"

วลีนี้ โด่งดังเป็นที่ถกเถียงในทางปรัชญานานนับแต่ยุคนั้นจนปัจจุบัน

ทว่า "I stink, therefore I am "

สำหรับผม มันให้ความรู้สึก "คันๆ" ด้วยรู้มาก่อนว่า Samuel Beckett นั้น "คัน" ยิ่งนัก

ผมไม่ได้ใส่ใจตีความตะลุยจักรวาลกับ "I stink, therefore I am "

ให้ผมรู้สึกแบบ"คันๆ" แบบนี้ต่อไปเถอะนะ